หลวงพ่อเงิน  วัดบางคลาน      
ทำเนียบพระรูปหล่อเงินล้าน..พิมพ์ขี้ตา

LINE it!

     ถามถึงพระเกจิอาจารย์สายเหนือที่ขึ้นทำเนียบระดับแถวหน้าของเมืองไทยนั้น หลายคนที่สนใจพระเครื่องเชื่อว่าจะต้องเอ่ยถึงหลวงพ่อเงิน แห่งวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร  ซึ่งท่านเคยเป็นศิษย์ของสมเด็จพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆัง จึงทำให้มีความเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและมีพุทธาคมที่แก่กล้า จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน และได้รับฉายาว่าเป็นเทพเจ้าแห่งอำเภอโพทะเล พร้อมกับสร้างพระเครื่องจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะพระรูปหล่อพิมพ์ขี้ตา ที่มีสนนราคาสูงมาก  

     หลวงพ่อเงิน เดิมท่านชื่อ เงิน เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2351  ปีมะโรง บิดาชื่อ อู๋  มารดาชื่อ ฟัก  อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์  พอท่านอายุได้ 5 ขวบ นายช่วงซึ่งเป็นครูของท่าน ได้พาหลวงพ่อเงินไปอยู่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเติบโตเข้าศึกษาเล่าเรียน จึงได้นำหลวงพ่อเงินไปฝากไว้ที่วัดตองปู (วัดชนะสงคราม) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือจนอายุได้ 12 ปีจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร

      

     เมื่ออายุครบบวชท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชนะสงคราม ฉายาพุทธโชติ แล้วจึงได้จำพรรษา เพื่อปฏิบัติธรรมวินัยเรียนทางวิปัสสนากรรมฐานอยู่ได้ 3 พรรษาขณะที่ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามนั้นได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิปัสสนาธุระและเวทย์วิทยาคม ในทางเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรีจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒจารย์(โต) พรหมรังสี   วัดระฆังโฆสิตารามจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านจึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดคงราราม (วัดบางคลานใต้) บ้านบางคลาน อำเภอบางคลาน จังหวัดพิจิตร  

       ต่อมาท่านจึงได้ย้ายจากวัดคงคารามไปอยู่ยังหมู่บ้านวังตะโก ซึ่งลึกเข้าไปในทางลำน้ำแควพิจิตรเก่า โดยท่านได้หักกิ่งโพธิ์ไปด้วย 3 กิ่ง และปักลงตรงบริเวณป่าตะโก แล้วท่านก็ได้อธิษฐานจิตว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาสร้างวัด ณ สถานที่แห่งนี้ ถ้ามีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตข้างหน้า ขอให้กิ่งโพธิ์ทั้ง 3 กิ่งจงเจริญงอกงามตามไปด้วย ก็ปรากฏว่าเป็นไปตามคำอธิษฐานของหลวงพ่อทุกประการ  ซึ่งได้สร้างอุโบสถ ศาลา กุฏิ และเสนาสนะภายในวัดจนครบ  


 
      และทำอย่างนั้นได้เพราะมีประชาชนให้ความเคารพนับถือท่านมาก มีคนมาหาท่านเป็นจำนวนมาก  เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์ และมาขอเครื่องรางของขลัง พร้อมกับขอให้หลวงพ่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ด้วย ซึ่งหลวงพ่อไม่เคยปฏิเสธมีแต่ให้ความเมตตา   โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เหมือนกันทุกระดับชั้น โดยเฉพาะพวกชาวเรือที่ขึ้นล่องไปมาได้พากันมาจอดเรือที่หน้าวัดหลวงพ่อเป็นประจำ เพื่อขอพรและขออาบน้ำมนต์ 

     ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อเงินท่านเป็นพระเถระที่บริบูรณ์ไปด้วยศีลจารวัตรและมีสมาธิจิตอันมั่นคง โดยเฉพาะเวทมนต์คาถาและวิปัสสนาธุระ ท่านมีความเชี่ยวชาญและแก่กล้าเรืองวิทยาคมรูปหนึ่งของจังหวัดพิจิตร และที่สำคัญท่านยังเป็นพระอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ด้วย กิตติศัพท์ของท่านเลื่องลือขจรขจายไปทั่วทุกภาคจากเหนือจดใต้จากตะวันออกจดตะวันตกมาเนิ่นนานแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 



     สำหรับการสร้างพระเครื่องและรูปเหมือนของหลวงพ่อเงิน ท่านได้สร้างเป็นรูปหล่อลอยองค์ขึ้นเป็นรุ่นแรกครั้งที่ 1 เนื้อทองเหลืองรูปองค์พระจะขรุขระผิวไม่เรียบร้อย ตามภาษาชาวบ้านเรียกว่าพิมพ์ขี้ตา คณะกรรมการวัดได้ให้เช่าบูชาองค์ละ 1 บาท  ครั้งที่ 2 สร้างเป็นรูปหล่อลอยองค์ โดยให้ช่างแก้พิมพ์ให้สวยงามขึ้น จึงเรียกว่าพิมพ์นิยมหรือพิมพ์เบ้าทุบ  เมื่อพิมพ์ขี้ตาและพิมพ์นิยมได้จำหน่ายจ่ายแจกให้ผู้ที่เคารพนับถือเลื่อมใสต่อหลวงพ่อ ต่างก็ได้รับความนิยมชมชอบสำหรับผู้ชาย

     ที่มาของพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตา นักนิยมพระเรียกขานตามรายละเอียดที่ติดมากับองค์พระ กล่าวคือ บริเวณใต้นัยน์ตาขวาของรูปหล่อช่วงติดกับดั้งจมูกจะมีเม็ดเนื้อเกินคล้ายขี้ตา จึงเป็นที่มาของนามว่าพิมพ์ขี้ตา รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตานี้ ตามความเข้าใจน่าจะเป็นงานเทหล่อฝีมือช่างชาวบ้าน  ฉะนั้นความประณีตสวยงามไม่อาจเทียบกับพิมพ์นิยม ซึ่งเทหล่อโดยนายช่างจากบ้านช่างหล่อ แต่นั้นก็ทำให้เกิดเสน่ห์ของงานศิลป์อีกรูปแบบ 

 
     สำหรับพระรูปหล่อพิมพ์ขี้ตานั้น ขบวนการผลิตเทหล่อเริ่มจากการทำแม่พิมพ์(บล็อก)ด้านหน้าและหลัง หลังจากนั้นจะเข้าขบวนการทำหุ่นเทียนคือการนำขี้ผึ้ง (สำหรับการทำพระ)การตีพิมพ์ในแม่พิมพ์(บล็อก) และนำหุ่นเทียน(แบบที่ได้จากการตีพิมพ์ขี้ผึ้งนี้จะเรียกว่าหุ่นเทียน) มาทาน้ำขี้วัวหลายเที่ยว หลังจากนั้นจึงเข้าดิน-ผูกลวด(กันเบ้าแตก) จากนั้นเมื่อได้ฤกษ์เททองหล่อจะนำเบ้าพระนั้นสุมสำรอกหุ่นเทียนและเทหล่อ ความแตกต่างของขบวนการผลิตระหว่างพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตาอยู่ที่พระพิมพ์นิยมจะต้องทำการเข้าช่อชนวนในขณะที่เป็นหุ่นเทียน(พิมพ์นิยมเทหล่อเป็นช่อ-ช่อละหลายองค์)

     ส่วนพิมพ์ขี้ตาจะเทหล่อทีละองค์ ความแตกต่างอยู่ที่ใต้ฐานพระพิมพ์นิยมจะสังเกตเห็นรอยช่อชนวนประมาณแท่งดินสอ แต่พิมพ์ขี้ตาจะไม่ปรากฏรอยช่อชนวนแต่จะเป็นรอยขรุขระ-หรือรอยยุบตัวของโลหะ และปรากฏรอยตะเข็บพิมพ์ด้านข้าง ซึ่งในพิมพ์นิยมจะไม่เห็นรอยตะเข็บนี้เนื่องจากช่างจะทำการแต่งลบรอยตะเข็บในขณะที่เป็นหุ่นเทียน และนี่คือจุดพิจารณาในการแยกแยะพระรูปหล่อพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตานอกเหนือจากการสังเกตุพิมพ์ซึ่งมีความแตกต่างกันในตัว

การจำแนกรูปหล่อพิมพฺ์ขี้ตามี 4 พิมพ์

     1.พิมพ์ขี้ตา 3 ชาย รูปหล่อพิมพ์นี้ขนาดจะเล็กกว่าพระพิมพ์ขี้ตาทุกพิมพ์ การสังเกตุพิมพ์ให้สังเกตุริ้วจีวรด้านขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร 3 เส้นพาดจากขอบสังฆาฎิเฉียงลงมาชนท้องแขนขวา และเส้นริ้วจีวรด้านซ้ายมือเส้นแรกจากสังฆาฏิจะโค้งขึ้นแล้วลาดลงมาขอบแขนซ้าย 

     2.พิมพ์ขี้ตา 4 ชายเล็ก ให้สังเกตริ้วจีวรด้านขวาองค์พระจะเห็นริ้วจีวร 4 เส้นลาดโค้งมาจากขอบสังฆาฏิขวาลงมาชนท้องแขนขวาและบริเวณแขนขวาองค์พระเหนือข้อศอกเล็กน้อยมักจะเป็นหลุมเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์

      3.พิมพ์ขี้ตา 4 ชายใหญ่ พิมพ์นี้ใกล้เคียงกับพิมพ์ 4 ชายเล็กมาก ทำให้นักนิยมพระหลายท่านเรียกสับสน ให้สังเกตริ้วจีวรด้านขวาองค์พระริ้วจีวร 4 เส้นจะลาดโค้งกว่าพิมพ์ 4 ชายเล็ก โดยริ้วจีวรเส้นบนสุดจะลาดโค้งไปจรดเกือบซอกแขนขวาด้านบน และเส้นริ้วจีวรเส้นที่ 3 จากด้านบนในซอกจะเห็นเนื้อเกินคล้ายสามเหลี่ยมชนไปเส้นจีวรเส้นที่ 2 และแก้มขวาองค์พระมีปลื้นเนื้อเกิน ซึ่งเป็นมาแต่ในแม่พิมพ์ปรากฏ

      4.พิมพ์ขี้ตา 5 ชาย ให้สังเกตเส้นริ้วจีวรขวามือองค์พระจะเห็นริ้วจีวร 5 เส้นโค้งซ้อนลงมาท้องแขนขวาส่วนด้านซ้ายมือริ้วจีวรจะปรากฏเป็น 3 เส้นใหญ่พาดเฉียงจากขอบสังฆาฏิซ้ายลงมาขอบแขนซ้าย และมุมปากซ้ายองค์พระจะสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย
 
      สำหรับพระทั้ง 4 แบบพิมพ์ขนาด 3 ชายจะเล็กที่สุดและจะไล่ขนาดถึงพิมพ์ 5 ชายจะมีขนาดเขื่องที่สุดและที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งคือบริเวณหัวตาขวาองค์พระจะเป็นเป็นรอยเส้นเฉียงขึ้นเล็กน้อย(เส้นนี้เล็กและตื้นมาก)ปรากฏทุกพิมพ์ และนอกเหนือจากนี้ยังมีจุดพิจารณาอีกหลายแห่ง พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตานี้เป็นเนื้อโลหะผสม(ทองเหลืองแก่เงิน)ต้องมีคราบดินเบ้าปรากฏ ดินนี้ฝังอยู่ตามเนื้อพระหลายท่านเรียกดินนี้ว่า”แร่น้ำพี้” ดินนี้มีสีดำบางครั้งเห็นเป็นเม็ดทรายฝังอยู่ก็มี

      ส่วนพระปลอมไม่ปรากฏว่ามีสิ่งเหล่านี้ และประการสำคัญที่สุดคือการจำแบบพิมพ์ให้ได้(แม่นพิมพ์) จำเนื้อ(พระเทหล่อดินไทย เนื้อทองผสม)ให้ได้ศึกษาจากผู้รู้ตำราที่เชื่อถือได้ และประการสุดท้ายห้ามเชื่อที่มาและห้ามฟังนิยายให้ยึดถือมาตรฐานของการสะสมพระที่ถูกวิธี รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติทั้งพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตานี้สันนิษฐานว่าสร้างรวมกันอยู่ที่หลักพันองค์หรือกว่านี้ไม่มาก
 
      รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม  จัดว่าเป็นรูปหล่อเกจิอาจารย์ที่มีอายุการสร้างที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการศึกษาค้นคว้าในประเภทรูปหล่อขนาดเล็ก และยังจัดได้ว่าเป็นรูปหล่อที่มีค่านิยมสูงสุดในบรรดาพระเครื่องประเภทรูปหล่อคณาจารย์ แต่ก็อาจเป็นข้อกังขาของผู้ที่ศึกษาพระเครื่องที่คงได้รับรู้มาว่า หลวงพ่อเงินรูปหล่อพิมพ์ขี้ตานั้นสร้างมาก่อนพิมพ์นิยม ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่าพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม ค่อนข้างจะมีหลักฐานในการจัดสร้างแน่นอนว่าทางวัดบางคลานได้ว่าจ้างช่างเทหล่อพระ มาจากบ้านช่างหล่อกรุงเทพฯ โดยรูปหล่อที่สร้างอยู่ระหว่าง พ.ศ.2448-2455

      และมีข้อมูลว่าเป็นการจัดสร้างครั้งแรกของวัด โดยเทหล่อพร้อมเหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ และเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก ส่วนรูปหล่อพิมพ์ขี้ตาเป็นฝีมืองานช่างพื้นบ้านซึ่งมีการกล่าวว่าสร้างหลายคราวแต่ขาดหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด เป็นเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นรูปหล่อที่ดูแล้วเกิดความเข้มขลังเพราะงานหล่อที่ขาดความประณีตเท่ารูปหล่อพิมพ์นิยม ทำให้เมื่อสังเกตเกิดความรู้สึกว่ารูปหล่อพิมพ์ขี้ตาน่าจะสร้างในคราวแรกๆ แต่อย่างไรก็ตามทั้งรูปหล่อพิมพ์นิยมและพิมพ์ขี้ตาน่าจะเทหล่อในเวลาใกล้เคียงกัน

      หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ ท่านเกิดในช่วง พ.ศ.2348-2355 โดยประมาณเพราะโบราณไม่มีการบันทึกเวลาเป็นแน่นอน (ทางวัดบันทึกว่าท่านเกิด พ.ศ.2353) นับจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 200 ปี และด้วยรูปหล่อพิมพ์นิยมที่กล่าวกันว่าสร้างเมื่อระหว่าง พ.ศ.2448-2455 ถ้านับตามปีหลังแล้วรูปหล่อนี้ก็จะมีอายุความ 100 ปี ฉะนั้นนักนิยมพระที่รักการศึกษาสะสมควรจะรู้รายละเอียดปลีกย่อยบ้าง เพื่อประกอบพิจารณาว่าการสร้างนั้นมีวิธีกรรมอย่างไร มวลสารเนื้อหาเป็นอย่างไร พิธีกรรมตลอดจนกระบวนการช่างหล่อ ช่างแต่ง

พระรูปหล่อพิมพ์นิยม 

      รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ พิมพ์นิยม วัดบางคลาน จำแนกพิมพ์ออกเป็น 2 แบบพิมพ์ คือ 1.พิมพ์นิยมมีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายชิด 2.พิมพ์นิยมไม่มีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายห่าง ในส่วนรายละเอียดพิมพ์นิยมมีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายชิด หรือพิมพ์ชายติดให้สังเกตุมือซ้ายขององค์พระจะเห็นรูปมือวางมีนิ้วชี้วางซ้อนรับนิ้วหัวแม่มือ ส่วนมือขวามีเพียงนิ้วหัวแม่มือไม่ปรากฎมีนิ้วรอง (น่าจะเรียกว่าพิมพ์มีนิ้วรองจะง่ายกว่า) และชายจีวรด้านซ้ายมือของรูปหล่อส่วนที่ติดข้อมือซ้ายชายจีวรสองเส้นจะเชื่อมติด
                 
      ส่วนรายละเอียดของพิมพ์นิยมไม่มีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายห่าง หลวงพ่อจะไม่ปรากฎนิ้วชี้รองรับ (บางองค์อาจเห็นเป็นทิวบางๆแต่ไม่ชัดเจน) และในริ้วจีวรด้านซ้ายมือของหลวงพ่อที่ติดกับข้อมือซ้าย จะเห็นเป็นชายจีวรเป็นเส้นเรียงไม่ติดกัน จุดสังเกตอีกสองจุดคือเท้าซ้ายของหลวงพ่อที่พ้นจากริ้วจีวรจะมีเนื้อเกินนูนขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม และเกือบปลายเท้าซ้ายด้านบนจะมีติ่งเนื้อนูนสองติ่ง ซึ่งจุดตำหนิทั้งสองจุดนี้จะอยู่บนเท้าซ้ายและอยู่ล่างเท้าขวาหลวงพ่อ รายละเอียดของหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมทั้งสองแบบ  พิมพ์ที่กล่าวมาเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ส่วนเค้าโครงร่างโดยรวมแทบจะไม่แตกต่าง ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าทั้งสองพิมพ์ล้วนใช้แม่แบบ (ตัวแม่) ตัวเดียวกันแต่เกิดจากการถอดแม่พิมพ์สองครั้งทำให้เกิดรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย
 
     พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม เป็นพระที่ผ่านการแต่งรายละเอียดในขั้นตอนที่เป้นหุ่นเทียน เช่นช่างจะทำการแต่งรายละเอียดตาและปากตลอดจนเก็บรอยตะเข็บและแต่งริ้วจีวรด้านข้างทั้งสองข้างเพราะฉะนั้นเมื่อเทหล่อสำเร็จเป็นองค์พระเรียบร้อยแล้วไม่ปรากฎรอยตะเข็บข้างให้เห็น รายละเอียดเกี่ยวกับใบหน้าจะแตกต่างกันไปเล็กน้อยก็เพราะผ่านการแต่งให้เกิดความสวยความมาตั้งแต่ต้นไม่ใช่มาแต่งภายหลังเมื่อเทเสร็จ ใต้ฐานองค์พระจะเห็นรอยช่อชนวนประมาณเล็กกว่าแท่งดินสอเล็กน้อย

      รายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นจุดในการพิจารณาและยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อองค์พระต้องเป็นเนื้อทองเหลืองปนขาวเล็กน้อยตามซอกองค์พระมักจะมีคราบน้ำตาลคลุมนั้นคือ สีสนิมที่เกิดจากธรรมชาติตลอดจนต้องเป็นพระที่เกิดจากเทหล่อด้วยดินไทย คือจะมีเม็ดดินเบ้าสีดำเล็กๆฝังอยู่ตามผิวองค์พระ ซึ่งเม็ดดินเบ้าเหล่านี้นักนิยมพระรุ่นครูอาจารย์เรียกว่าแร่น้ำพี้และต่างย้ำนักหนาว่าต้องมีถึงจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นพระแท้ โดยสรุปในการศึกษารูปหล่อหลวงพ่อเงินทั้งพิมพ์นิยม และพิมพ์ขี้ตาต้องพิจารณาให้ดี 

      1.พิมพ์ หมายถึงรายละเอียดรูปแบบขององค์พระตำหนิในพิมพ์ต้องถูกต้อง ขนาดองค์พระต้องถูกแบบ ต้องอ่านพิมพ์ออกว่าเป็นพิมพ์อะไร พิมพ์นิยมหรือพิมพ์ขี้ตา

     2.เนื้อหา เนื้อพระสีสันต้องถูกต้องกระบวนการผลิตต้องอ่านออกว่าเป็นพระที่เทหล่อดินไทยแบบโบราณเท่านั้นทั้งสองข้อที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าทำความเข้าใจก็ย่อมศึกษาพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินได้ไม่ยาก

รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยมไม่มีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายห่าง
     1.ริ้วจีวรไม่ติดกัน
     2.ไม่ปรากฏนิ้วชี้ซ้ายหลวงพ่อ
     3.บริเวณเท้าซ้ายเหนือริ้วจีวรจะมี เนื้อเกินนูนขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม
     4.เกือบปลายเท้าซ้ายด้านบนจะมีเนื้อนูนสองติ่ง
     
รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยมมีมือรองนั่ง หรือพิมพ์ชายชิด
     1.ริ้วจีวรไม่ติดกัน
     2.ปรากฎนิ้วชี้ซ้ายหลวงพ่อติดชัดเจน
     3.ไม่ปรากฏเนื้อเกินนูนขี้นเป็นรูปสามเหลี่ยมบริเวณเท้าซ้ายเหนือริ้วจีวร
     4.ไม่ปรากฏเนื้อนูนสองติ่งที่บริเวณเกือบปลายเท้าซ้ายด้านบน
     
     ส่วนผู้หญิงและเด็กๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้รูปหล่อทั้งสองพิมพ์ดังกล่าวมาแล้ว  ทางคณะกรรมการวัดจึงได้จัดให้สร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นเหรียญหล่อไข่ปลาเรียกว่าจอบใหญ่กับเหรียญหล่อจอบเล็ก เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กๆ ได้มีโอกาสเช่าบูชาให้ติดตัวไปได้ ปรากฏว่าเหรียญไข่ปลาและเหรียญจอบเล็กจำหน่ายดีมีความนิยมสูงมากกว่ารูปลอยองค์ เพราะเหรียญสองชนิดนี้มีห่วงอยู่ในตัวเมื่อเช่ารับจากหลวงพ่อมาแล้วก็คล้องคอได้เลย 

     เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบใหญ่ สันนิฐานว่าสร้างพร้อมกับรูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมและเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก แต่เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่พบเห็นน้อยมาก การสร้างเช่นเดียวกับเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก โดยเหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม(เนื้อทองผสม เหลืองปนขาวเล็กน้อย) จำแนกเป็น 2แบบพิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์สองชาย กับพิมพ์ชายเดียว

     ในการจำแนกพิมพ์พิมพ์สองชาย 1.ริ้วจีวรซ้ายหลวงพ่อเส้นแรกบริเวณข้อมือจะขาด(เป็นที่มาพิมพ์ 2 ชาย) 2.เม็ดไข่ปลากึ่งกลางฐานจะเป็นเม็ดไม่ซ้อน 3.เส้นขอบซุ้มด้านบนบริเวณหูเหรียญจะเฉียงชนขอบหูเหรียญ 4.สังฆาฏิจะมีเส้นนูนคล้ายตังอักษร “ป” นักสะสมจึงมักเรียกว่าพิมพ์ “ป”

     ส่วนพิมพ์ชายเดียว 1.ริ้วจีวรซ้ายหลวงพ่อเส้นแรกบริเวณข้อมือเป็นเส้นไม่ขาด(เป็นที่มาพิมพ์ ชายเดียว)2. เม็ดไข่ปลากึ่งกลางฐานจะเป็นเม็ดซ้อน 3.หัวไหล่ซ้ายบริเวณติดสังฆาฏิจะมีรอยยัก  4.บริเวณกึ่งกลางสังฆาฏิจะเป็นเนื้อนูน นักสะสมจึงมักเรียกว่าพิมพ์สังฆาฏิแตก 5. ในองค์ที่สวยสมบูรณ์ปลายจมูกหลวงพ่อจะยาวลงมาชนขอบริมฝีปากบน และนี่คือข้อแตกต่างระหว่างพิมพ์หลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบใหญ่ทั้ง 2 แบบพิมพ์

     เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน เป็นเหรียญหล่อคณาจารย์  ที่มีราคาแพงที่สุดในประเภทเหรียญหล่อ ซึ่งเป็นรองแค่พิมพ์จอบใหญ่เท่านั้น เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กเป็นเหรียญหล่อที่มีรายละเอียดเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว ส่วนด้านหลังจะเรียบหรือในบางองค์จะเห็นเป็นรอยคล้ายแบบพิมพ์ก็มี

     แต่ในส่วนนี้พบเห็นน้อยมาก (รอยแบบพิมพ์นี้เกิดจากในขณะที่ตีหุ่นเทียนแล้วช่างรีดขี้ผึ้งกดหุ่นแรง จึงเกิดรอยยุบตัว-ไปตามพิมพ์ด้านหน้า)ในบางองค์อาจมีรอยนิ้วมือปรากฏก็เนื่องจากการกดหุ่นเทียนของช่าง กระบวนการสร้างเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กหรือพิมพ์จอบใหญ่ ช่างจะทำการสร้าง-แบบพิมพ์หรือบล็อก ซึ่งแบบพิมพ์นี้เป็นแบบพิมพ์ด้านเดียว 

เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กมี 4 พิมพ์

     1.พิมพ์แข้งติด หรือพิมพ์แข้งชิด แบบพิมพ์นี้ให้สังเกตใต้ฝ่าเท้าซ้ายจะมีเนื้อเกินเชื่อมกับริ้วจีวรหน้าแข้งขวาและช่วงกึ่งกลางหน้าแข้งซ้ายจะมีเนื้อเกินเชื่อมติดกับขอบฐาน(เส้นนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่ก็เคยพบที่ตำแหน่งนี้ไม่ติดก็มี) และเส้นสังฆาฏิช่วงหัวไหล่ซ้ายจะเป็นเส้นซ้อนคล้ายปากตะขาบ 

     2.พิมพ์แข้งตรง ปลายเท้าซ้ายหลวงพ่อจะตรงขนานกับหัวเข่าขวา และเหนือข้อศอกขวาหลวงพ่อจะมีเนื้อเกินเป็นเม็ดเล็กน้อย

     3.พิมพ์ปลายเท้ากระดก ให้สังเกตเท้าซ้ายหลวงพ่อจะเห็นคล้ายส้นเท้าและปลายเท้า-นิ้วเท้าซ้ายจะกระดกขึ้นเล็กน้อยและบริเวณหัวเข่าขวาหลวงพ่อจะมีเม็ดเนื้อเกินอยู่ติดกับขอบฐาน(ส่วนใหญ่จะมีแต่ก็มีบางองค์ที่แท้แต่จุดนี้ไม่ติด)

     4. พิมพ์ตาขีด พิมพ์นี้ให้สังเกตนัยน์ตาซ้ายหลวงพ่อจะยาวคล้ายเม็ดข้าวติดดั้งจมูก และช่วงแขนขวาบริเวณซอกรักแร้จะมีเส้นนูน 2 เส้นเชื่อมติดกับองค์หลวงพ่อและช่วงปลายเท้าซ้ายหลวงพ่อจะเอียงชิดขอบฐาน

     ทั้ง 4 แบบพิมพ์จะเป็นพระเทหล่อเข้าช่อชนวนบริเวณกึ่งกลางฐานด้านล่างและหูเหรียญด้านหลังจะเห็นเป็นรอยคล้ายปากปลิงเพราะเกิดจากการม้วนหูเหรียญในขณะที่เป็นหุ่นเทียนช่วงปลายก้านหูเหรียญจะถูกละลายด้วยความร้อนเพื่อเชื่อมติดเข้าหลังเหรียญจึงเกิดเป็นเนื้อล้นคล้ายปากปลิง และนี่คือความเป็นมาของเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กหลวงพ่อเงิน เหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็กและพิมพ์จอบใหญ่เชื่อกันว่าสร้างพร้อมรูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม

     และเท่าที่พบเห็นเหรียญหล่อนี้จะเป็นเนื้อทองผสมแต่กล่าวกันว่ามีอีกส่วนหนึ่งซึ่งทางช่างเทหล่อได้กราบขออนุญาตหลวงพ่อเงินเทเป็นเนื้อเงินเพื่อไว้สักการะบูชากันเองแต่ก็มีจำนวนน้อยมากแทบไม่มีการพบเห็น เช่นเดียวกับการพิจารณาพระหล่อทั่วไปคือต้องจดจำพิมพ์รายละเอียดให้ได้และประการสำคัญคือต้องรู้ว่าพระแท้ต้องเทหล่อด้วยดินไทยปรากฏดินเบ้าให้เห็นเป็นส่วนประกอบ

      ในการสร้างพระรูปหล่อของหลวงพ่อเงิน จะเป็นพิมพ์ใดก็ตาม ช่างมิได้สร้างครั้งเดียวและปีเดียว เมื่อปีนี้สร้างมาแล้วหมดไปเมื่อถึงงานประจำปีปิดทองไหว้พระในเดือน 11 ของทุกๆ ปี หลวงพ่อท่านได้จัดให้มีงานแข่งเรืออย่างสนุกสนาน ได้มีประชาชนทั่วทุกอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงได้พากันมาเที่ยวงานที่วัดวังตะโกเป็นจำนวนมาก ท่านก็ได้ให้ช่างหล่อรูปพิมพ์ต่างๆ ขึ้นมาตามลำดับเรียกร้องของประชาชนและผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อเงิน 
 
    นอกจากนี้การสร้างรูปหล่อหลวงพ่อเงินเป็นกรณีพิเศษ ยังมีข้าราชการ พ่อค้าประชาชนที่เคารพนับถือหลวงพ่อเงินมาขออนุญาตท่านหล่อรูปเหมือน โดยนำช่างไปทำการหล่อขึ้นที่วัดวังตะโก และหล่อไปจากกรุงเทพฯ ก็มีแล้วจึงนำไปมอบให้หลวงพ่อเงินท่านได้แผ่เมตตาปลุกเสกให้ ซึ่งมีทั้งเนื้อ ทองคำ,เงิน ,สำริด,ทองเหลือง ,ทองแดงและตะกั่ว โดยวัตถุมงคลของหลวงพ่อเงินนั้น ถ้าผู้ใดมีไว้ครอบครอง จะได้รับแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นศิริมงคล และแคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวง

    สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อเงินทั้งที่วัดวังตะโก กับวัดท้ายน้ำบางพิมพ์ก็เหมือนกัน แต่บางพิมพ์อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะไม่ได้สร้างในคราวเดียวกัน และไม่ใช่พิมพ์บล็อกเดียวกันด้วยจึงเล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนหากมีไว้บูชารับรองเข้มขลังไม่ต่างกัน 
 

คำค้น : หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร, พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , รูปหล่อพิมพ์นิยมหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , รีวิวพระรูปหล่อลอยองค์ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , พระรูปหล่อพิมพ์ขี้ตาหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน , แนะนำพระพิมพ์จอบหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ,ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ,พระรูปหล่อราคาแพงหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, วัตถุมงคลหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน